นอกเหนือจากการดูแลเรื่องอาหารการกิน การนอน พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเพิ่มความใส่ใจและเพิ่มความระมัดระวังการดูแลลูกให้มากขึ้น พร้อมเลี้ยงลูกให้มีจิตใจที่แข็งแรงและลูกมีสุขภาพกายที่สมบูรณ์ด้วย นั่นถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงอย่างไรให้มีคุณภาพมากที่สุด อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความเข้าใจ ความอดทน และเสียสละของพ่อแม่อย่างมาก
1. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เพราะธรรมชาติของเด็กมักเลียนแบบผู้ใหญ่อยู่เสมอ เช่น ถ้าอยากให้ลูกชอบอ่านหนังสือก็ต้องอ่านหนังสือเป็นตัวอย่างให้กับลูก อยากให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ก็ต้องกินเป็นตัวอย่าง รวมถึงการแสดงกิริยาและมารยาทที่ดีในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการปลูกฝังสิ่งดีๆ พร้อมฝึกสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เด็ก
2. แบ่งเวลา
คงเป็นเรื่องยากที่จะหาคนเลี้ยงที่จะทุ่มเทเหมือนพ่อแม่ได้ ทำให้หลายครอบครัวจึงฝากความหวังไว้ที่สถานรับดูแลเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องทำงาน จนไม่สามารถแบ่งเวลาเพื่อมาดูแลลูกน้อยได้ เพราะตั้งแต่ 0 – 5 ขวบ เป็นช่วงที่ลูกน้อยจะมีการเรียนรู้และซึมซับสิ่งต่างๆ จากพ่อแม่มากที่สุด ดังนั้นพ่อแม่จึงควรจัดลำดับความสำคัญ ถ้าจัดไม่ได้ก็คงลำบาก เพราะพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ถ้าไม่ยอมเหนื่อยตอนนี้ ก็คงต้องเหนื่อยตอนโตอยู่ดี
3. ฝึกให้มีความรับผิดชอบ
เริ่มต้นด้วยการสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก เช่น ตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว และหากลูกมีความรับผิดชอบตัวเองได้ดี ไปอยู่ที่ไหนก็เข้ากับเขาได้ แต่หากเลี้ยงลูกแบบเอาอกเอาใจลูกมากเกินไป ลูกอาจกลายเป็นคนเอาแต่ใจได้ในที่สุด พ่อแม่จึงควรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงฝึกให้เด็กรู้ว่า คนเรามีความรู้สึกไม่พอใจได้ แต่ต้องแสดงออกให้เหมาะสม สอนให้เด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และต้องเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น
4. มีสุขภาพใจแข็งแรง
ถ้าตัวตนภายในไม่แข็งแรง ปัญหาต่างๆ จะตามมา ลูกอาจเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย เมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะแก้ปัญหาในชีวิตได้ไม่ดี มีสัมพันธ์กับคนอื่นได้ไม่ดี อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องของยาเสพติด พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกให้มีใจที่เข้มแข็งและแข็งแรง อย่างน้อยก็สามารถสื่อให้เขารู้ว่ามีตัวเขาอยู่ในบ้าน พ่อแม่ต้องคอยทะนุถนอมคอยประคับประคองจิตใจ ฝึกให้เด็กหัดรู้จักอดทน รู้จักการรอคอย ไม่ใช่ต้องได้ดั่งใจไปหมดทุกอย่าง ให้รู้คำว่าแพ้ หรือผิดหวัง และต้องลงมือทำเองถ้าอยากได้ ไม่ใช่พ่อแม่จะต้องคอยช่วยเหลือไปทุกเรื่อง ไม่งั้นเด็กจะทำอะไรไม่เป็นเลย และเมื่อเด็กต้องทำอะไรคนเดียว ก็จะกลัวผิดพลาด ไม่กล้าทำ
5. เลือกใช้เหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง
การใช้อารมณ์และความรุนแรงกับเด็ก พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงเอาไว้เลย นอกจากไม่ได้เกิดผลดีกับเด็กแล้ว ยังทำให้เด็กเกิดความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ ยิ่งไปกว่านั้น วัยเด็กยังไม่สามารถแยกดีหรือร้ายได้ เมื่อเด็กทำผิดพลาด พ่อแม่ควรสอนด้วยการใช้คำพูดที่เหมาะสมและใช้วิธีจัดการที่ถูต้อง ดีกว่าจะดุด่าว่ากล่าว เพราะเด็กบางคนอาจจะเป็นเด็กเล็ก อาจจะเอาแต่ใจตัวเอง ยังเป็นวัยที่พัฒนาการการควบคุมตัวเองยังไม่ดีพอ เด็กบางคนมีภาวะซน อยู่ไม่นิ่ง หรือว่ามีภาวะเลี้ยงยาก หากพ่อแม่ใช่อารมณ์และความรุนแรงกับเด็ก เหมือนเป็นการสร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็กในระยะยาวและก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอีกด้วย