7 ความเชื่อผิดๆ ระหว่างการตั้งครรรภ์ของคุณแม่

เพื่อให้ก้าวแรกของชีวิตลูกน้อยเริ่มต้นอย่างดีที่สุด สู่ความเป็นอัจฉริยะรอบด้านในอนาคต ตั้งแต่วันแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์  ถึงหลังการคลอดบุตร การดูแลลูกน้อย การให้นม ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่คนเป็นแม่มือใหม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดค่ะ

แต่ก็มีความเชื่อผิดๆ ที่คุณแม่มือใหม่มักจะได้ยินมาจากหลายๆ ที่อยู่ตลอด จนทำให้เกิดความสับสนและกังวลในการเลี้ยงลูกได้  เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และก็มีแชร์กันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย  แม่หน่อยจึงอยากจะไขข้อข้องใจให้รู้ถึงความจริง เพื่อไม่ให้คุณแม่เข้าใจผิดและต้องพังที่หลังค่ะ 

1. อยากให้ลูกมีผิวขาว ห้ามกินของดำ

ความจริง : เรื่องการรับประทานเฉาก๊วย หรืออาหารที่มีสีดำนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสีผิวของทารกในครรภ์เลยค่ะ   เพราะเด็กจะเกิดมาผิวขาว หรือผิวดำนั้น  ขึ้นอยู่กับการแสดงออกทางพันธุกรรม   เพราะยีนส์ที่ควบคุมการแสดงออกของเมลานิน หรือเม็ดสี ทำให้คนเราเกิดมามีสีผิวที่แตกต่างกันอยู่แล้วค่ะ  และสิ่งแวดล้อมจากการได้รับ รังสีอัลตราไวโอเลต ก็อาจทำให้ผิวดำขึ้นได้เช่นกัน 

2. ดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้แท้งลูก

ความจริง : คุณแม่บางคนกลัวมาก จนไม่กล้าทานน้ำนผลไม้สักชนิดเลยก็มีค่ะ  อันที่จริงในขณะตั้งครรภ์ฮอร์โมน เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ในร่างกายจะสูงอยู่แล้ว  แต่ในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจนแต่ในปริมาณที่น้อยมาก  จึงไม่มีผลต่อการบีบตัวมดลูกที่ทำให้แท้งบุตรได้

3. ใช้เข็มกลัดติดเสื้อบริเวณสะดือ ป้องกันลูกน้อยจากภูตผี

ความจริง : กุสโลบายต่างๆ เหล่านี้มีขึ้นมาเพื่อให้แม่ๆ ที่ตั้งครรภ์สบายใจขึ้นค่ะ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล  ถ้าแม่ๆ จะทำตามก็ไม่ถือว่าผิดค่ะ แต่ควรระวังเข็มตำเท่านั้นเอง หรือการไม่ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไปงานศพ ก็เพื่อไม่ให้เกิดความหดหู่ทางจิตใจโดยรวมเท่านั้นเองค่ะ 

4. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์

ความจริง : คุณแม่ๆ สบายใจได้ค่ะ  ขณะตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ไม่มีผลให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ค่ะ อาจจะมีบางช่วงที่ควรลดการมีเพศสัมพันธ์ลง เช่น ช่วงตั้งครรภ์ใหม่ๆ  เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงแรก อาจมีอาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย และช่วงใกล้คลอด จะรู้สึกอึดอัดเหนื่อยง่ายมาก  และควรเลือกท่วงท่าให้เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ

5. ยาบำรุงที่หมอให้ขณะตั้งครรภ์ทำให้อ้วน

ความจริง : ยาบำรุงที่ได้รับตอนฝากครรภ์จะเป็นพวกธาตุเหล็ก และวิตามิน ซึ่งมีผลดีต่อหญิงตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์โดยตรง ช่วยให้การสร้างเม็ดเลือดแดงดีขึ้น ไม่เกี่ยวกับการทำให้อ้วน แต่ที่หญิงตั้งครรภ์อ้วนเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์บวมน้ำ และคนท้องส่วนใหญ่เจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมากขึ้นอีกด้วย

6. กินได้เต็มที่ น้ำหนักขึ้นเยอะเท่าไหร่ก็ได้

ความจริง : ปกติแล้วระหว่างตั้งครรภ์น้ำหนักจะเพิ่มดังนี้ค่ะ ไตรมาสแรก น้ำหนักควรเพิ่มประมาณ 1 กิโลกรัม, ไตรมาสที่ 2 ควรเพิ่มประมาณ 4-5 กิโลกรัม และไตรมาสที่ 3 ควรเพิ่มประมาณ 5-6 กิโลกรัม หรือควรเพิ่ม 10-12 กิโลกรัม  เพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง ที่จะนำไปสู่ครรภ์เป็นพิษ ควรทานอาหารที่มีประโยชน์  หลีกเลี่ยงขนมหวานต่าง ๆ ค่ะ

7. ห้ามออกกำลังกาย

ความจริง : การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ สามารถช่วยส่งเสริมบุคลิก ท่าทางของคุณแม่ตั้งครรภ์ให้ดูดีได้ค่ะ ลดอาการปวดหลัง ความเหนื่อยล้า รวมทั้งความเครียดได้  แต่ควรเป็นในระดับหนักปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่อาจเกิดแรงปะทะ หรืออุบัติเหตุได้ง่าย

แต่ถ้าไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ หรือออกกำลังกายที่ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ และการออกกำลังกายควรเริ่มหลังอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ไปแล้วค่ะ